วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียน ตอนที่ 4 การฝึกซ้อม..

ปัญหาการจิ้มดีด..เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็สร้างปัญหาที่ทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับองค์กรที่นำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ให้บริการคนไข้ไม่น้อยและเป็นปัญหาที่หลายๆ โรงพยาบาลอาจจะมองข้าม เพราะคิดว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว บ้านไหนๆก็มีกัน..ใครที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นนอกจากถือว่าเชยแล้วบางทีประเมินสมรรถนะอาจจะไม่ฝ่านอีกต่างหาก
แต่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็ไม่ได้หมายความว่าจะพิมพ์ได้คล่อง..เพราะส่วนใหญ่ถนัดใช้เมาส์คลิ๊ก..

เราเริ่มต้นกันง่ายๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำความคุ้นเคยกับการพิมพ์ บทเรียนง่ายๆ คือ การตั้ง log in เข้าใช้โปรแกรม HOSxP เป็นชื่อภาษาไทยของตัวผู้ใช้เอง และติดตั้งโปรแกรมเพื่อรับ-ส่งข้อความสั้นๆอย่าง IPMSG ที่สามารถส่งผ่านระบบแลนไปยังฝ่ายงานต่างๆ ได้ โปรแกรมเล็กแต่แจ๋ว ที่ทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารขึ้นใหม่ เพราะสามารถส่งข้อความไปยังหน่วยงานอื่นได้พร้อมๆ กันหรือจะส่งเฉพาะบางหน่วยงานก็ได้ และถูกใช้งานมากขึ้นเนื่องจากสะดวกในการใช้แทนเสียงตามสาย การประชาสัมพันธ์ ตามหาเจ้าหน้าที่บางคน หรือขอความร่วมมือต่างๆ บางคนใช้เป็นพื้นที่ประกาศขายของไปด้วยก็มี..

พอใช้ส่งข้อความสั้นๆบ่อยๆ ทำให้ทักษะการพิมพ์จาก "จิ้มดีด" เป็นจิ้มสัมผัสได้มากขึ้นตามลำดับ..

ในระหว่างที่ผมกับอาร์มกำลัีงติดตั้งระบบเพื่อทดสอบ ทดลอง ตั้งแต่การเซตค่าข้อมูลพื้นฐานต่างๆ พบว่ามีเรื่องที่ต้องคิดหนักเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรทอง, ฐานข้อมูลระบบบัญชี,ฐานข้อมูลอาชีพ, การศึกษา ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเอกสารอ้างอิงที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการเซตค่าต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การตั้งค่าข้อมูลพื้นฐานในโปรแกรมเดิมนั้น แต่ละโรงพยาบาลก็มักจะตั้งเองตามใจชอบ โดยไม่ต้องอิงกับมาตรฐานอะไรมากนัก แต่ในช่วงหลัง สปสช. และ สนย.ได้กำหนดชุดข้อมูลมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น 12 และ 18 แฟ้ม ขึ้นมาโรงพยาบาลที่ไม่ได้มีการตั้งค่าข้อมูลพื้ืนฐานให้ถูกต้อง จึงได้รับผลกระทบกันพอสมควรทีเดียว..

ทุกอย่างเหมือนจะดูดี..แต่ผมก็มีปัญหาที่น่าดีใจและหนักใจไม่น้อย..
ที่น่าดีใจ คือ ผมคิดว่าผมรู้และเข้าใจวิธีการทำงานของ HOSxP มากสุดๆ เหมือนการบรรลุอะไรซักอย่าง
แต่ปัญหาที่หนักอก คือ ผมจะอธิบายอย่างไรให้คนอื่นในทีมเข้าใจในสิ่งที่ผมและอาร์มรู้..

การที่องค์กรแพทย์ปฏิเสธจะใช้งานในช่วงแรกๆ และหยอดคำหวานไว้ว่าอีกสักพักจะใช้ให้ลองศึกษาก่อน ก็น่าดีใจที่อย่างน้อยก็ยังพอมีความหวัง แต่เอาเ้ข้าจริงๆแล้วนี่คืออนาคตที่ไม่ดีเท่าไหร่ เหตุผลที่ผมต้องบอกแบบนี้ เพราะว่าหลายโรงพยาบาลที่องค์กรแพทย์ไม่ยอมใช้ในช่วงแรกๆ เมื่อระบบเริ่มใช้งานผู้ดูแลระบบจะต้องออกแบบ FLOW ของการทำงานตามสถานการณ์ที่แพทย์ไม่ใช้ เช่น การการสั่งแลป สั่งเอ๊กเรย์ ลงนัด ลง Refer ก็ต้องมอบให้เป็นหน้าที่และภาระกับพยาบาลหรือบางทีก็อาจจะเพิ่มคน หรือจ้างคนมาช่วยลงข้อมูลให้เฉพาะ

ปัญหาคืออะไรเหรอครับ..ปัญหาก็ คือ พอใช้ไปสักพักระบบมันจะเริ่มลงตัวคนที่ใช้งานก็จะมีความชำนาญและทำงานคล่องตัวมากขึ้น สุดท้ายก็จะติดวิธีการที่ทำมาว่ามันก็ดีอยู่แล้วและก็อาจจะใช้วิธีนี้ไปอีกนานแสนนาน หากถ้าใครคิดจะไปเปลี่ยนก็มักจะเจอกระแสการต่อต้าน เพราะอย่างที่บอกแหละครับว่า คน..ไม่อยากเปลี่ยนแปลง

การผ่าตัดใหญ่ยังไงก็ต้องเป็นแผล ต้องเจ็บตัว..อยู่แล้ว
ผมจึงขอให้แพทย์ช่วยใช้ HOSxP ด้วยการคลิกเลือกชื่อคนไข้และสั่งพิมพ์ OPD Card ออกมาเพื่อเขียนข้อมูลการซักประวัติและสั่งยา เป็นการพบกันค่อนทางที่ดีครับ และเืพื่อให้มีปัญหาในการใช้งานจริงน้อยที่สุด การซักซ้อม การฝึกซ้อมให้เกิดความชำนาญจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ในช่วงบ่ายสองถึงบ่ายสี่โมงเย็นหลังจากที่ว่างงานจากการให้บริการคนไข้ ทีมนำสารสนเทศของโรงพยาบาลจะมาร่วมกันทดลองฝึกซ้อมวิธีการใช้งานและลงบันทึกในโปรแกรม HOSxP ทดลองส่งตรวจจากเครื่องนี้ไปยังเครื่องนั้นและตามไปดูว่าข้อมูลมันถูกส่งไปจริงหรือไม่ ทดลองจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อดูว่าถ้าให้บริการจริงๆเวลาคนไข้มากรณีแบบนี้ทำจะทำอย่างไร คนไข้มาตรวจรักษาแล้วต้อง refer ทำอย่างไร ,คนไข้ตรวจแล้วหมอสั่ง Admit ทำอย่างไร ฯลฯ ทดลองซ้อมกันอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์

ข้อดีของการฝึกซ้อมไม่เพียงแต่ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนมีความชำนาญในการลงบันทึกข้อมูลเ่ท่านั้น ยังทำให้ทีมของพวกเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยน อธิบายวิธีการและเหตุผลในเนื้องานของตัวเอง บางเรื่องมองในมุมตัวเองเหมือนเส้นผมบังภูเขาแต่พอมีคนนอกมาช่วยดูให้มันมีหลายเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายดาย เมื่อได้ฟังกันมากขึ้นทำให้พวกเรามองเห็นภาพรวมของการบริการที่มีคนเข้ามารับบริการในแต่ละวัน เข้าใจการทำงานของหน่วยงานตนเองและการทำงานของหน่วยงานอื่น

ปัจจุบันการขึ้นระบบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ มาตรการฝึกซ้อมลงข้อมูลใน HOSxP เป็นสิ่งจำเป็นที่ผมเน้นค่อนข้างมาก ยิ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยิ่งมีความซับซ้อนในระบบมาก การฝึกซ้อมสามารถลดปัญหาการทำงาน และลดความเครียดของเจ้าหน้าที่ในวันที่โรงพยาบาลเปิดให้บริการโดยใช้โปรแกรม HOSxP ได้มากพอสมควร

ข้อคิดที่เราได้จากตรงจุดนี้ คือ การเปลี่ยนแปลง Software ไม่ว่าจะเป็น HOSxP หรือโปรแกรมอื่นๆ การเตรียมความพร้อม ฝึกซ้อมเจ้าหน้าที่ "ทุกคน" ในทุึกหน่วยงานที่เกียวข้องที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อลงบันทึกข้อมูลมีความสำคัญมากครับ และอยากบอกว่าไม่ว่าคุณจะใช้โปรแกรมอะไรหรือทำอะไรในการขับเคลื่อนองค์กร การเตรียมคนในองค์กรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก..
มากขนาดไหนผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ให้ลองดูภาพของเด็กที่แข่งวิ่ง 31 ขาดูสิครับ..



การแข่งขันวิ่ง 31 ขา นักเรียนหนึ่งคนเป็นเหมือนตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ขาที่ผูกไว้ด้วยกัน เปรียบเสมือนความเชื่อมของของระบบข้อมูลขผ่านระบบแลน(LAN) นั่นเอง ...ถ้าเป็นการวิ่งแข่งทั่วๆไป ต่างคนต่างวิ่ง แน่นอนครับว่าคงไม่มีปัญหาอะไร หน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาลที่เคยต่างคนต่างทำงาน มีข้อมูล มีการทำรายงาน ที่ไม่ต้องเชื่อมโยงกันมันก็คงไม่มีปัญหา

แต่ปััจจุบันระบบข้อมูลข่าวสารที่มีปริมาณมากต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการเก็บและประมวลผลข้อมูล ซึ่งมันจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อข้อมูลมีความเชื่อมโยงกัน เหมือนกับการวิ่งแบบ 31 ขา

การวิ่งแบบนี้ไม่ฝึกซ้อม..คงจะวิ่งไปได้อย่างช้าๆ และล้มลุกคลุกคลานเจ็บตัวกันหลายครั้ง
ยิ่งถ้าบางคนในทีมไม่ยอมวิ่งอีกต่างหาก กลายเป็นภาระให้เพื่อนในทีมต้องใช้กำลังในการออกแรงลากคนที่ไม่ยอมวิ่ง กลายเป็นความทุกข์สำหรับเพื่อนร่วมงานไม่น้อย ..

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเคยวิ่ง จนหกล้มลุกคลุกคลานกันมาหลายครั้ง เพราะซ้อมน้อย ไม่มีครู ไม่มีโค้ชมาสอนมาคอยแนะนำให้ ทำให้วิ่งกันไม่เป็น..แต่การเรียนรู้ผิด รู้ถูก ก็เป็นครูที่ดี

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา...
ทุกวันนี้เราเก็บเกี่ยวเทคนิคและบทเรียนมากมาย ที่หลายๆโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้โดยไม่ต้องไปเริ่มต้นลองผิด ลองถูกกันใหม่เพราะความผิดพลาดของคนที่ก้าวเดินไปก่อนหน้า มีไว้ให้ศึกษาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเดินย่ำซ้ำรอยผิดพลาดเดิมๆ