วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สอนการใช้ HOSxP online รุ่นที่ 2 วันที่ 1

::งานเวชระเบียน::

วันนี้มีการสอน HOSxP Online รุ่นที่ 2 ครับ โดยสอนผ่านโปรแกรม Team talk และ join.me เป็นวิธีที่เคยใช้กับโรงพยาบาลแวงใหญ่ จังหวัดขอนแ่ก่น ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลนำร่องรุ่นแรกที่สอนโดยวิธีนี้ ครั้งนี้มีโรงพยาบาลที่ต้องการขึ้นระบบ HOSxP 3-4 แห่งครับ ได้แก่ รพ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์, รพ.จิตเวชเลยฯ จ.เลย ,รพ.แวงน้อย จ.ขอนแ่ก่น และ รพ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น..

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการประชุมของแต่ละ รพ. ยังคงมีปัญหาในเรื่องของเทคนิคอยู่บ้างครับ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของสัญญานเสียงที่มีความไม่ชัดเจน และการเซตโปรแกรม team talk ไม่ถูกต้องทำให้เกิดปัญหาเสียงรบกวนต้องเสียเวลาในการแก้ไขพอสมควร แต่ก็อย่างที่เคยบอกครับว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก..ซึ่งบางครั้งต้องอดทนกับปัญหาอุปสรรค์ต่างๆที่เกิดขึ้นและพยายามหาทางแก้ไขกันไป เพราะจริงๆแล้วเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ทุกวันนี้มีคู่มือ มีเพื่อนคอยให้คำปรึกษาเรียกได้ว่างานนี้ไม่มีโดดเดี่ยวเดียวดายครับ..

รพ.ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้มีทั้ง สมาชิกเก่าและใหม่ ตามความสมัครใจของแต่ละท่าน เพราะความรู้ต่างๆมันเรียนทันกันได้ครับ ขึ้นอยู่สนใจใฝ่รู้ และความขยันของแต่ละคน โรงพยาบาลที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้มี รพ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ,รพ.แวงใหญ่,รพ.ภูผาม่าน จ.ขอนแ่ก่น ,รพ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ,รพ.ป่าบอน จ.พัทลุง, รพ,ภูหลวง,รพ.จิตเวชเลยฯ ,รพ.เอราวัณ จ.เลย รวมทั้งหมด 8-9 แห่ง และต้องขอขอบคุณ น้องโต ทีมไอที สสจ.เลยที่ช่วยบริหารจัดการห้องประชุมสำหรับโรงพยาบาลที่มีปัญหาการใช้งาน team talk..

เนื้อหาการประชุมในวันนี้ ได้พูดคุยถึงเรื่องการเข้าใช้งานโปรแกรม HOSxP เบื้องต้น และโมดูลการใช้งานของห้องบัตร ซึ่งค่อนข้างจะพูดละเอียดกว่าทุกครั้งครับ อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งพูดมาบ่อยแล้วทำให้มีรายละเอียดสามารถเก็บมาพูดคุยได้มากขึ้น และเกรงว่าเสียงกับภาพอาจจะไม่สัมพันธ์กันทำให้ต้องพยายามพูดให้ช้าลง..

ประเด็นในเรื่องของสิทธิ,การส่งตรวจ,ประเภทผู้ป่วย,และหัตถการเป็นคำถามที่ถูกเปิดประเด็นขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ายังไม่เข้าใจภาพรวมของ HOSxP ทำให้อาจจะยังมองไม่ออกว่า แล้วมันจะไปยังไงต่อ เป็นการบ้านที่ต้องเก็บเอามาพูดคุยต่อในวันพรุ่งนี้

- ผู้ป่วยนัดมารับบริการตามนัด และมาตรงนัด
- ผู้ป่วยนัดมารับบริการตามนัด แต่มาก่อนนัด
- ผู้ป่วยนัดมารับบริการตามนัด แต่มาหลังนัด

- ส่งตรวจโดยรับ Refer จาก หน่วยงานอื่น
- ผู้ป่วยมาตรวจมากกว่า 1 ครั้งใน 1 วัน (Revisit)
- ผู้ป่วยมาตรวจโรคและมารับบริการอื่นๆ

- การตรวจสอบข้อมูลการนัด,การแก้ไขข้อมูลนัด และการส่งตรวจล่วงหน้า
- การลงยืมแฟ้มเวชระเบียน
- การใช้ OPD Tools

- รายงานของเวชระเบียน

ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ รพ.แห่งที่ยังเซต team talk ไม่เรียบร้อยอยากให้ อ่านจาก คู่มือการใช้ Teamtalk นี่ก่อนและลองเซตค่าต่างๆให้เหมาะสมนะครับ ต้องขอขอบคุณ อุ้ม จาก รพ.แวงใหญ่ด้วยที่ทำคู่มือไว้ค่อนข้างดี อ่านแล้วเข้าใจง่าย

ในส่วนของเรื่องผู้เข้าร่วมประชุมเป็นหน้าที่ของแต่ละทีมนะครับที่ต้องบริหารจัดการกันเอาเอง ถ้าจะบอกว่าติดโน้น ติดนี่ มีธุระไม่ว่างทุกแห่งก็คงมีเหมือนกันหมดแหละครับ ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลา จัดสรรคน และความตระหนักของบุคลากรในแต่ละโรงพยาบาลเอง ถ้าดูจากการเรียนการสอนในวันแรกคงจะเห็นแล้วว่า เฉพาะเนื้อหาของห้องบัตรยังใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง และยังไม่ได้ถึงครึ่งของเนื้อหาที่ต้องใช้ทั้งหมด

การนำ HOSxP ไปใช้ในโรงพยาบาล หัวใจความสำเร็จอยู่ที่คนใช้ครับ ถ้าคนใช้ได้รู้ เข้าใจ การใช้งานมากที่สุดเท่าไหร่ Admin ก็จะเหนื่อยน้อย..และโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์อย่างมาก ถ้าหากมีคนเข้ารว่มประชุมน้อย ภาระส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ที่ admin เอง...ที่ต้องไปปากเปียกปากแฉะในภายหลัง ซึ่ง Admin หลายท่่านก็ไม่รับประกันว่าจะจำไปบอกต่อได้มากน้อยแค่ไหน

HOSxP เป็นฟรีแวร์ที่ดีและฟรีครับ ด้วยความดีและฟรีทำให้เป็นที่มาของการเอื้อเฟื้อ แบ่งปันกัน..และอยากให้ทุกท่านได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของมันด้วย ผมเองก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องทำงานเช่นเดียวกับทุกท่าน เวลาที่แบ่งมาสอนเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นและเป็นเวลาที่ผมต้องเสียไป...

ดังนั้น..อย่าให้เวลาของพวกเราทุกคนผ่านไปอย่างไรประโยชน์ครับ

ไม่มีอะไรในโลกนี้ได้มาฟรีๆ แม้แต่ HOSxP เพราะถึงจะ"ฟรีแวร์"แต่ต้อง"ลงทุน เรียนรู้ และลงมือทำ" ด้วยครับ