วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ถอดบทเรียน ตอนที่ 1 เปิดการรับรู้

ผมกับอาร์ม เคยขับรถกินลมชมวิวหอบหิ้วเอาเจ้า Server เดินทางไปไกลถึงขอนแก่น.. เพื่อไปหาโปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนาโปรแกรมถึงที่บ้าน สาเหตุมาจากโปรแกรมมีปัญหา และแก้กันไม่เป็น


โคตรทุกข์เลยตอนนั้น ขับรถออกเดินทางจากด่านซ้ายช่วงบ่ายกับอาร์มสองคนถึงบ้านพี่หนึ่ง เจ้าของโปรแกรม EzHOS ที่นัดกันไว้ตอนค่ำ เพราะพี่หนึ่งเองก็งานเยอะไหนจะงานประจำและงานดูแลและพัฒนาโปรแกรมของแกเอง พอแก้ไขเสร็จก็รีบตีรถกลับเพราะต้องจัดการให้ Server ต้องพร้อมใช้งานในวันทำการถัดไป..
ไม่ใช่แ่ค่ครั้งนี้ครั้งเดียว..ก่อนหน้านี้ เวลาโปรแกรม EzHOS มีปัญหาผมติดต่อให้พี่หนึ่ง แกก็ขับรถดันด้นมาจากขอนแก่นนั่งปรับแก้โปรแกรมผมก็แค่ทำหน้าที่ดูแล ประสานงาน อำนวยความสะดวก นั่งเฝ้าดูแกทำงานทั้งคืน หลายครั้งที่พี่หนึ่งทำงานจนเกือบถึงตอนเช้า ก่อนจะไปนอนไม่กี่ชั่วโมง และเดินทางกลับ หลังจากนั้น โปรแกรมก็เริ่มแสดงบั๊กของปัญหาอีก..
"โอเคๆ เดี๋ยวพี่แก้ให้" นั่นคือคำตอบสามัญที่ได้รับเป็นประจำ หลังจากนั้นผมก็ทำได้แค่นั่งรอแกอัพแก้ไขเวอร์ชั่นใหม่และ Download มาใช้งาน ทนใช้อยู่ 3 ปี ผมกับอาร์มไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนักเราสองคนทำหน้าที่เป็นแค่ช่างเทคนิคที่วันๆนั่งแก้ไขปัญหาเล็กๆน้อยๆ ตั้งแต่ปลั๊กหลุด ไฟนัมล๊อคไม่ติด แก้ปัญหาไวรัสรายวันเป็นงานที่ไม่หนักแต่ก็จุกจิก..และน่าเบื่อ

จนถึงจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้ว..ในที่ประชุมกรรมการบริหาร เราพูดคุยกันว่าโปรแกรมมีปัญหาเราน่าจะเปลี่ยนโปรแกรม ด้วยพื้นฐานความรู้เดิมที่เชื่อว่า โปรแกรมที่ดี คงต้องมีราคาแพง ต้องเป็นมืออาชีพในรูปของบริษัทไม่ใช่ฝากชีวิตไว้กับโปรแกรมเมอร์เจ้าของโปรแกรมเพียงคนเดียวแบบเดิม มีหลายบริษัทเข้ามานำเสนอสนนราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักหลายแสน..จนเฉียดฉิวหลักล้าน

ด้วยความจนของโรงพยาบาลที่เป็นหนี้อยู่หลายล้านบาท เลยต้องเจียมเนื้อเจียมตัวที่จะต้องลงทุึนอะไรหนักๆ ที่จริงการรับรู้ของพวกเราตอนนั้นเราคิดกันว่ามันเป็นแค่ซอฟท์แวร์ เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันดูมันไม่สมราคาที่ต้องจ่าย จนวันหนึ่งมีหนังสือส่งมาจากโรงพยาบาลโพธาราม แจ้งเรื่องเชิญใช้โปรแกรม HOSxP ที่ผมสนใจในตอนนั้น คือมัน ฟรี..เท่านั้นเอง

หลังจากนำเสนอโปรแกรมใหม่ให้กับผู้บริหาร สิ่งแรกที่เป็นคำถามคือ โปรแกรมฟรีมันจะดีเหรอ? การคิดแบบนักบริหารมุมมองการจ้างบริษัทดีๆมาจัดการน่าจะง่ายกว่า แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ของฟรีเราก็ไม่มีอะไรจะเสีย ผมจึงได้รับอนุมัติใ้ห้ "ลองดู"
เคย...พูดคุยกับผู้อำนวยการหลายครั้ง ว่านโยบายด้านไอทีของท่านคืออะไร คำตอบที่เป็นนโยบายสั้นๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้..อย่าให้ระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา" สั้น กระชับ แต่หนัก..เหมือนยกภูเขามาไว้บนอก

ผมเริ่มต้นจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ดาวโหลดโปรแกรมมาศึกษา อ่านจากเวปบอร์ดที่มีสมาชิกเข้ามาใช้งาน แลกเปลี่ยนช่วยเหลือกัน ชมมั่ง ด่ามั่งก็ไม่น้อย จนสั่นคลอนความรู้สึกว่าตูมาถูกทางหรือเปล่า(ว่ะ) หลังจากที่ลองติดตั้ง อ่าน DataDic หลายร้อยหน้า พร้อมกับถอดทบทวนบทเรียนความผิดพลาดของโปรแกรมเดิมที่ผ่านมาซึ่งผมก็พบว่า..มันเป็นประเด็น

HOSxP มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมันคือ Linux และ MySQL ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ผมและอาร์มยังไม่มี..
ถึงจะไม่ใช่ทักษิณ แต่ผมก็ต้องคิดว่า..ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ช้าหน่อยไม่เป็นไร ในขณะที่ศึกษาเรียนรู้ HOSxP ด้วยตนเองกับอาร์ม เราก็วางแผนปูพื้นฐานเรื่องการดูแลระบบในระยะยาวว่า เราต้องยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ผมให้อาร์มหาหลักสูตรสำหรับไปเรียนเกี่ยวกับ HOSxP Linux MySQL และ PHP ซึ่งเป็นหลักสูตรบังคับที่ต้องเรียน

ในขณะที่เตรียมเรื่องของอาร์ม คณะกรรมการบริหารก็ต้องมานั่งคุยกัน ผมเชิญ Admin จากโรงพยาบาลอื่นมาช่วยนำเสนอคุณสมบัติของโปรแกรม HOSxP เบื้องต้น เพื่อช่วยตอบข้อสงสัยของกรรมการบริหารที่ผมยังตอบไม่ได้ หลังจากนั้นจึงลองติดตั้ง ใช้งาน ซักซ้อมลองแล้วลองอีกกันอยู่นาน ผมก็พบว่าปัญหาในระบบของโรงพยาบาลมากมาย เพราะระบบงานเดิมๆที่เราทำมันเป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชิน..และที่สำคัญคนของเรามีความรู้..ความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์น้อยมาก

หลังจากที่ศึกษา HOSxP จนทะลุปรุโปร่งทุกซอกทุกมุม ทุกเมนู..มันทำให้ผมรับรู้สิ่งใหม่ๆ มีหลายอย่างที่เราต้องปรับปรุงและเตรียมให้พร้อมก่อนใช้ HOSxP คำถามหนึ่ง..แว๊บขึ้นมาในหัวว่า เป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน? คำตอบของผมในตอนนั้นคือ ต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตอบโจทย์ได้ถึงระบบการเงินการคลัง และระบบรายงาน..และมันควรจะทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา

นั่นคือความฝัน..ที่ต้องมาคิดต่อว่าทำอย่างไร..ด้วยวิธีไหนจึงจะไปให้ถึง