วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

การบันทึกหนังสือรับรองการตาย

เห็นพ่อออมสินเขียนเรื่องการวินิจฉัยโรค จึงมีความคิดว่า เอ๊ะ! น่าจะมาเล่าเรื่องการตายสู่กันฟัง เพื่อความเข้าใจร่วมกันของชาวเราทุกคนค่ะ
การบันทึกหนังสือรับรองการตายนั้น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบันทึกหนังสือรับรองการตายในโรงพยาบาล คือแพทย์ เพราะเป็นผู้ดูแลผู้เสียชีวิต ทราบรายละเอียดการวินิจฉัยโรค โรคแทรกซ้อน การรักษา ฯลฯ ของผู้เสียชีวิตเป็นอย่างดี การเลือกสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตแต่ละรายจึงจะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ดูแลเป็นหลัก แพทย์จึงควรมีความรู้และความเข้าใจหลักการรับรองสาเหตุการตายอย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถบันทึกหนังสือรับรองการตายได้ถูกต้อง
ในการบันทึกหนังสือรับรองการตาย ส่วนที่ 1 ถือเป็น ส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นส่วนที่จะถูกวิเคราะห์และนำไปเลือกสาเหตุการตายสำหรับผู้ตายรายนั้น ในส่วนนี้ ใช้สำหรับแสดงลำดับเหตุการณ์ของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อันนำไปสู่การตาย โดยเรียงลำดับเหตุการณ์ย้อนจากปัจจุบันไปหาอดีต โดยเหตุการณ์ล่าสุดจะอยู่บรรทัดบนสุด ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนนั้นจะอยู่ในบรรทัดถัดลงไป จนย้อนไปถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงในบรรทัดล่างสุด
การกรอกหนังสือรับรองการตาย ส่วนที่ 1 นี้ อาจกรอกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ แล้วแต่กรณี คือ
ก. กรณีที่การตายมีเหตุการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องมีเหตุผลซึ่งกันและกัน
ในกรณีนี้การบันทึกสาเหตุการตายจะบันทึกโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ย้อนจากปัจจุบันไปหาอดีต โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการตายไม่นานจะถูกบันทึกอยู่ในบรรทัดบนสุด คือ 1(a) เหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์แรกจะอยู่บรรทัดล่าง 1(b), 1(c) ไล่สาเหตุไปเรื่อย ๆ จนถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงจะอยู่บรรทัดล่างสุด คือ 1(c) หรือ 1(d)
ข. กรณีที่การตายไม่มีเหตุการณ์ดำเนินต่อเนื่องอันมีเหตุผลซึ่งกันและกัน
ในกรณีนี้ให้บันทึกโรคที่คิดว่ามีโอกาสเป็นสาเหตุการตายมากที่สุด ในส่วนที่ 1 และบันทึกโรคอื่น ๆ ในส่วนที่ 2

แนวคิดการบันทึกโรคที่เป็นสาเหตุการตาย
โรคต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในบรรทัด (a), (b), (c) และ (d) ในส่วนที่ 1 ของหนังสือรับรองการตายนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในการเจ็บป่วยคราวนี้เสมอไป อาจเกิดขึ้นมานานกว่าการเจ็บป่วยคราวนีัก็ได้ ถ้าแพทย์เห็นว่าโรคนั้น เป็นส่วนสำคัญและอาจเป็นสาเหตุการตายได้
เช่น กรณ๊ผู้ตาย ติดเชื้อ Viral hepatitis B และมีอาการตับอักเสบเรื้อรังมา ครั้งสุดท้ายอาการตับวายเสียชีวิต
การบันทึกส่วนที่ 1 จึงเป็นดังนี้
(a) ACUTE FULMINANT HEPATITIS 7 days
(b) CHRONIC ACTIVE HEPATITIS 8 years
(c) VIRAL HEPATITIS B INFECTION 10 years ago
(d) -
สาเหตุการตายของผู้ป่วยรายนี้ ตือ Viral Hepatitis B Infection

ไว้เรื่้องหน้าจะเขียนเรื่องรูปแบบการตายกับสาเหตุการตาย เหมือนกันหรือไม่เหมือนกันอย่างไรนะคะ