วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียน ตอนที่ 3 ฟันธง..

คนส่วนใหญ่มักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง.. ผมเองก็เป็นคนส่วนใหญ่ที่จัดอยู่ในกลุ่มสมาคมคนขี้กลัว(การเปลี่ยนแปลง)เหมือนกัน

การเปลี่ยน Software ของโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องที่นึกอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ง่ายๆ ใครที่เข้าใจว่าแค่จ้างนักคอมพิวเตอร์มาทำงาน ประชุม พูดคุยกันนิดหน่อยๆ ก็พอแล้ว..ที่เหลือให้นักคอมพิวเตอร์เขาดูแลไป ผมไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิดนะครับ..แต่ครั้งหนึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เคยเชิญฝ่ายพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลกรุงเทพ มาเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์ อาจารย์่ท่านนึงมาดูระบบไอทีของโรงพยาบาลแล้วใ่ห้ข้อคิดที่สำคัญประโยคหนึ่งว่า "คุณรู้ไหม๊..ระบบสารสนเทศ..สำคัญพอๆกับการเปลี่ยนผู้บริหารเลยทีเดียว.." นั่นคือ มุมมองของคนที่ทำงานโรงพยาบาลเอกชนครับ

การเปลี่ยนแปลงบุคลากรของห้องบัตรที่ต้องโยกย้าย เปลี่ยนงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจทำลายขวัญกำลังใจของคนในองค์กรโดยไม่รู้ตัว เพราะจากคนที่เคยมีงานทำเป็นประจำทุกวัน จนถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นบัตร แต่พอวันหนึ่งระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาแล้วเขาทำงานไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีพอ เป็นสาเหตุที่ต้องทำให้มีการย้ายฝ่าย เปลี่ยนงาน หัวอกของคนทำงานจะทุกข์แค่ไหนเป็นเรื่องที่ทีมบริหารต้องช่วยกันอธิบายต่อหัวหน้างานและบุคลากรในทุกระดับรวมถึงการมองหางานที่เหมาะสมให้เขาด้วย เรื่องแบบนี้..มองได้หลายมุมครับถ้าจะให้ถูกใจคนทำงานคุณภาพขององค์กรก็อาจจะแย่ ถ้าจะเน้นๆแต่เรื่ืองคุณภาพก็อาจจะกลายเป็นองค์กรมีคนทำงานแบบไร้ชีวิิตชีวา แต่ถ้าเราหาจุดยืนร่วมกันเอาคนไข้้เป็นศูนย์กลาง เราพบว่าองค์กรที่ทำระบบคุณภาพต้องดูแลเอาใจใส่พนักงานในหลายด้านและต้องปรับทัศนคติของคนในองค์กรเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยกตัวอย่างงานในหลายๆตำแหน่งนะครับ เช่น ห้องบัตร เวรเปล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานขับรถ ฯลฯ ซึ่งกรรมการบริหารหารต้องมองการทำงานในหน้าที่ของบุคลากรเหล่านี้ในระยะยาวด้วยว่าจะเอายังไง จะไปทางไหนต่อ เพราะถ้าเราปล่อยไปเรื่อยๆ คนเหล่านี้อายุมากขึ้น ทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ไม่มีการพัฒนาสุดท้ายก็กลายเป็นพนักงานที่ทำงานเชื่องช้า เต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายต่องานที่ทำ ไม่รวมถึงสังขารที่อายุมากขึ้น บางคนอ้วนมากขึ้น มีโรคประจำตัวล้วนเป็นอุปสรรค์ต่อการทำงานและความปลอดภัยของคนไข้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีการตัดสินใจผ่องถ่ายเจ้าหน้าที่ห้องบัตรที่อายุงานมากๆเปลี่ยนไปทำงานในตำแหน่งงานอื่น และต้องคิดให้มากเกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์ด้านบุคลากร

ผ่านจากห้องบัตรมาที่จุดคัดกรอง ถ้าเราลองเดินตามคนไข้ เมื่อพยาบาลเรียกไปซักประวัติ พยาบาลจะสอบถามอาการเจ็บป่วย อาจจะมีผู้ช่วยเหลือคนไข้ช่วยวัดไข้ วัดความดันโลหิตหรือบางครั้งพยาบาลก็อาจจะทำเอง และบันทึกข้อมูลลง OPD CARD หรือใบสั่งยาก็แล้วแต่ว่าระบบของโรงพยาบาลทำมาแบบไหน แต่เดิมที่โรงพยาบาลใช้การพิมพ์ใบสั่งยาออกมาก่อนและให้พยาบาลเขียนประวัติการเจ็บป่วยลงใน OPD CARD ตรงพื้นที่ว่างๆ ที่ถูกประทับวันที่มาเรียบร้อยแล้วจากห้องบัตร พอเปลี่ยนมาใช้ HOSxP แต่แพทย์ยังไม่พร้อมที่จะใช้ งานเข้า..สิครับ เพราะถ้าแพทย์ไม่ดูข้อมูลการซักประวัติในคอมพิวเตอร์ยืนยันจะดูจาก OPD CARD ซึ่งก็หมายความพยาบาลข้อมูลที่พยาบาลคีย์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีความหมาย ต้องเขียนประวัติลงใน OPD CARD เหมือนเดิมและถ้าพยาบาลต้องเขียนและต้องคีย์เข้าคอมพิวเตอร์ คุณคิดว่าเขาจะยอมทำให้ไหม๊ล่ะครับ..

ผมนั่งเฝ้าสังเกตพยาบาลที่จุดคัดกรอง ว่ามีงานหรือต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง โดยสรุปมีหน้าที่หลักๆ ดังนี้ครับ
1.ซักประวัติ วัดสัญญานชีพ บันทึกลง OPD CARD
2.เขียนใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)
3.เขียนใบส่งต่อ ลงสมุด Refer เพื่อออกเลขที่ส่งต่อ(ถ้ามี)
4.ออกใบนัด ลงสมุดนัด แนะนำการปฏิบัติตัว
5.ทำหัตถการ(บางรายการ)ที่ OPD
6.งานคลิินิกพิเศษ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ

ซึ่งระบบงานเอกสารเดิมเป็นการเขียนทั้งหมด แน่นอนครับว่าความยุ่งเหยิงต่างๆมันรวมกันอยู่แถวนี้แหละ เพราะคนไข้มีทั้งขาเข้าและขาออก บางคนออกจากห้องแพทย์ไปห้องแลป ไปเอ๊กเรย์ แล้วก็ต้องกลับมาอีกครั้ง วกไปวนมา พยาบาลตรงจุดนี้จึงทำหน้าที่เหมือนจราจรเป่าปิ๊ดๆ ให้คนนี้เข้า คนนี้ออก พูดคุยอธิบายกับคนไข้ บางทีต้องเข้าไปช่วยแพทย์ทำหัตถการ และหลายครั้งเป็นกระโถนรองรับอารมณ์คนไข้และหมอ หรือบางโรงพยาบาลมีพี่พยาบาลอาวุโส(มากๆ)มาประจำอยู่ที่ OPD (ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากขึ้น เวรเช้า บ่าย ดึก) บางที่คนไข้ก็เยอะ พยาบาลก็น้อย.. คิดดูสิครับแล้วถ้าเรายังไปยัดเยียดระบบคอมพิวเตอร์โดยที่ไมได้เ้ข้าไปวิเคราะห์และหาทางออกที่เหมาะสมให้กับเขา..จะเกิดอะไรขึ้น

นางฟ้าในชุดขาวของเรา..ก็วีนแตกเท่านั้นเอง!

ก่อนจะใช้ HOSxP ต้องตกลงกันให้ดีๆครับว่าจะเอายังไงระหว่างแพทย์และพยาบาล ถ้าแพทย์ไม่ยอมใช้งาน workload ของงานบันทึกข้อมูลหลายๆอย่างจะไปกองอยู่ที่พยาบาล ถึงคุณจะไปหว่านล้อมด้วยแม่น้ำทั้งห้า..ว่ามันมีผลต่อข้อมูล 12-18 แฟ้มอะไรยังไงก็ตามที เธอก็คงไม่สนหรอกครับเพราะไหนจะเหนื่อยกับงานบริการแล้วยังต้องมาทำงานซ้ำซ้อนทั้งเขียน ทั้งคีย์ลงคอมพิวเตอร์ นี่มันเอาความทุกข์ไปให้กันชัดๆ หรือบางโรงพยาบาลโชคดีหน่อยครับ ที่พยาบาล OPD ใจสู้ แต่ก็มีที่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญกันได้พยาบาล OPD ยอมทำให้อย่างจำนน แต่ก็ทำแบบจ่ม ก่น ด่า..กระแทกแดกดัน วันไหนคอมพิวเตอร์ใช้แล้วแฮงค์ ค้าง ทำให้เหล่าบรรดานางฟ้าของเราพากันหงุดหงิดอารมณ์เสียบ่อยๆ แล้วใครเล่าครับที่จะรับผลกรรมตรงนี้ถ้าไม่ใช่บรรดานักคอมพิวเตอร์

องค์กรแพทย์จะใช้หรือไม่ใช้ิสำคัญต่อการวางระบบงานอื่นๆเที่เชื่อมโยงกันครับ หลายๆโรงพยาบาลมีเหตุผลและความจำเป็นที่องค์กรแพทย์ปฏิเสธที่จะไม่ใช้เพราะเหตุผลที่ว่าแพทย์น้อย แต่ส่วนตัวผมมองว่าเกิดจากการปิดใจไม่อยากรับรู้มากกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของการคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะโปรแกรม HOSxP จะสามารถช่วยแพทย์ทำงานได้มากพอสมควรเช่น การดูประวัติเก่า การ Remed หรือใช้สูตรยา และยังมีผลต่อระบบงานของหน่วยงานอื่นอีกด้วย เพียงแค่ลองเปิดใจและทดลองใช้ ลองศึกษาเรียนรู้สักเล็กน้อย จะมีแพทย์น้อยหรือมากมันยังมีทางออกช่วยกันได้ครับ แต่ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลที่จะปฏิเสธตั้งแต่ยังไม่ทันเรียนรู้ ยังไม่ทันเห็นว่า HOSxP ทำอะไรได้บ้างก็ตั้งธงแล้วว่าจะไม่ใช้คอมพิวเตอร์ท่าเดียว

โจทย์ในครั้งแรกที่ติดตั้งระบบ HOSxP ของโรงพยาบาลผมก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน
องค์กรแพทย์ขอเวลายังไม่พร้อมใช้ใน แล้วจะจัดการอย่างไรกับปัญหานี้ดี..

ถ้าแพทย์ไม่ใช้ .....
พยาบาลก็จะไม่คีย์เพราะถ้าต้องเขียนลง OPD CARD และ้ต้องคีย์ลง HOSxP เธอก็ขอบาย..เหมือนกัน ทำไมฉันจะต้องมาทำงานหนักอยู่คนเดียวด้วย!

สุดท้ายเราขอพบกันครึ่งทางครับ โดยการเิริ่มต้นครั้งแรกขอให้แพทย์ใช้คอมคลิกเรียกชื่อผู้ป่วยจาก HOSxP และกดบันทึกเพื่อพิมพ์ OPD CARD ออกมาดูประวัติที่พยาบาลบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ และแพทย์เขียนการตรวจร่างกาย สั่งยาลงใน OPD CARD ด้วยลายมือแทน ยังไม่ต้องลงในคอม แค่คลิกเพื่อพิมพ์--และเขียนเหมือนเดิมเท่านี้ก็ทำให้พยาบาลยอมซักประวัติโดยการคีย์ลองคอมพิวเตอร์ผ่านไปด้วย เป็นยกสยามยกแรกที่ใช้ได้และวิธีนี้ผมยังใช้กับแพทย์ที่มาบรรจุใหม่ด้วยเช่นกันครับ

โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกๆ เรากำหนดหน้าที่กันดังนี้ครับ
-ห้องบัตรส่งตรวจ ค้น OPD CARD ส่งมาให้ที่พยาบาลคัดกรอง
-พยาบาลคัดกรอง บันทึกข้อมูลลงใน HOSxP เมนูการคัดกรอง และส่งเข้าห้องตรวจ
-แพทย์เลือกคนไข้ บันทึกเพื่อพิมพ์ OPD CARD และเขียนการตรวจร่างกาย ยา แลป เอ๊กเรย์ ฯลฯ
-พยาบาลสั่ง แลป เอ๊กเรย์ ลงรายการนัด ลงการ Refer

เมื่อตกลงกันได้ดูเหมือนปัญหาจะจบลงได้ด้วยดีนะครับ..
แต่ก็มีปัญหาที่ทำให้ผมเข็มขัดสั้น เพราะคาดไม่ถึงนั่นคือ พยาบาลคีย์ับันทึกข้อมูลด้วยการ "จิ้มดีด"

โอ..แม่เจ้า ถ้าคุณจิ้มดีดไม่คล่องคุณจะรู้ว่ามันทรมานแค่ไหนกับการหาตัวอักษรบนแป้นพิมพ์

พรุ่งนี้มาติดตามกันต่อครับว่า..เราแก้ปัญหานี้กันอย่างไร