วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554
อยู่คนเดียว
ประโยคหนึ่งที่ผมชอบ..ในบทเพลงนี้คือท่อนที่ร้องว่า "อยู่คนเดียวให้เข็ด น้ำตาแทบเล็ด..มันเจ็บมันร้อนก็ต้องทนให้อยู่" ฟังแล้วได้อารมณ์ดี โดยเฉพาะในช่วงที่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว เดียวดาย.. ต้องทำอะไรกันลำพัง หรือทำกันไม่กี่คน..
วันเสาร์นี้ผมมีนัดกับพี่อ๊อก สาธารณสุขอำเภอนาด้วงครับ ด้วยความสนิทสนมกันเป็นส่วนตัวและูรู้จักคุ้นเคยกันมานาน สมัยที่พี่อ๊อกทำงานอยู่ที่สถานีอนามัยบ้านน้ำเย็น ผมทำงานอยู่ สสอ.ด่านซ้าย ยุคนั้นคอมพิวเตอร์มีบทบาทในสำนักงาน คือ การพิมพ์เอกสาร และงานดาต้าเบสเล็กๆน้อยๆ ตอนนั้นเราได้ข่าวว่าจังหวัดพิจิตรใช้โปรแกรมฐานข้อมูลสำหรับสถานีอนามัย คือ โปรแกรม THO จึงขอไปศึกษาดูงานและนำโปรแกรมมาทดลองใช้ เรียกได้ว่ายุคนั้นโปรแกรม THO นี่แหละครับเจ๋งสุดๆ ลองผิด ลองถูก จนมั่นใจ และได้มีโอกาสคุยกับหมอจิ๋ว ซึ่งตอนนั้นผมเป็นเลขา คปสอ. แต่ว่ายังไม่ได้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ว่าจะนำโปรแกรมนี้มาทดลองใช้ที่สถานีอนามัยบ้านน้ำเย็น และฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัวของโรงพยาบาล ด้วยความที่โปรแกรมใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน ทำให้สถานีอนามัยน้ำเย็นเป็นอนามัยต้นแบบแรกๆที่ใช้ฐานข้อมูลในการทำงานคู่กับแฟ้มครอบครัวก็แฟ้มครอบครัวที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้แหละครับเราออกแบบกันมันตั้งแต่ปี 2540 ตอนนั้นใช้ชื่อปกแฟ้มว่าศูนย์บริการสุขภาพชุมชน.. พี่อ๊อกเป็นมือหนึ่งของการใช้โปรแกรม THO ทีเดียว ใช้คล่อง รู้จักทุกเมนูการใช้งาน..
หลังจากดูแล้วคิดว่าโปรแกรมนี้แหละเหมาะที่จะนำมาใช้ในสถานีอนามัย ก็พยายามหาเวทีนำเสนอทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ทั้งไปสาธิตการใช้งาน หรือเชิญมาชมที่สถานีอนามัย แต่ก็โดดเดี่ยวครับ.. ไม่มีคนสนใจที่จะใช้งานเพิ่มมากนัก ส่วนหนึ่งด้วยความกลัวว่าเป็นโปรแกรมที่ไม่ได้พัฒนาเองใช้แล้วเดี๋ยวจะมีปัญหา ฯลฯ ผมจึงทำได้เพียงขยายฝันระบบงานสารสนเทศของสถานีอนามัยได้เฉพาะสถานีอนาัมัยในเขตอำเภอด่านซ้าย ซึ่งคอมพิวเตอร์ยุคนั้น เครื่อง 486 ก็ถือว่าหรูมากแล้ว..สำหรับการใช้งาน ร้านขายคอมพิวเตอร์ยุคนั้นก็มีเพียงร้านเมืองเลยคอมพิวเตอร์เจ้าเดียวที่น่าจะเชื่อถือและมั่นใจมากที่สุด..
บทเรียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สอนเรื่องการเตรียมความรู้ความเข้าใจของคนให้พร้อมก่อนเอาเครื่องมือไปให้ใช้งาน หากไม่พร้อมก็ไม่ต้องไปเร่งรีบอะไรมาก เพราะมันมีธรรมชาติของมัน บางคนไม่ถนัดคอมพิวเตอร์แต่อาจจะทำงาน สรุปผลรายงานได้เร็วกว่าคนที่มีคอมใช้แต่ใช้ไม่เป็นก็ได้.. ของแบบนี้แล้วแต่ใครถนัดบางทีต้องรอจนหมดยุคคนรุ่นหนึ่งให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนผ่านงานไอทีถึงจะก้าวกระโดด..
จนมาถึงยุคที่ windows 98 และ office 97 เฟื่ื่องฟู เป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของซอทฟ์แวร์ตัวใหม่อย่าง HCIS ที่เริ่มฉายแววแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ มีคนกล่าวถึงกันมาก ในขณะที่ THO เข้าสู่ยุคปลายที่ใกล้ร่วงโรย เพราะระบบ DOS สำหรับคนรุุ่นใหม่เริ่มไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องไปเรียนรู้อะไรมากอีกต่อไป จนกระทั่ง HCIS ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสถานีอนามัยเกือบทุกแห่งอย่างยาวนานหลายปี.. แม้จะมีซอฟท์แวร์ตัวอื่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบ้างในบางจังหวัดแต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
ผมมีโอกาสสัมผัส HCIS เพียงไม่นานเพราะกว่าจังหวัดเลยจะเข้าที่เข้าทางเรื่อง HCIS ก็เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจาก windows 98 เป็นระบบปฏิบัติการ Windows ME และกระโดดมายัง Windows XP อย่างรวดเร็ว ทำให้ผมมองข้ามการใ้ช้ฐานข้อมูลบน Access 97 ที่ไม่น่าจะมีอนาคตที่สดใสเท่าใดนัก จนกระทั่งมีหนังสือเวียนไปทั่วประเทศเรื่อง HOSxP ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี HOSxP PCU แต่มีสัมผัสบางอย่างที่ดูจากการพัฒนาโปรแกรมที่ผมมองว่า เฮ้ย..โปรแกรมนี้แหละ ใช่เลย ดูดีมีอนาคต..
แต่ 5 ปีที่แล้ว โคตรโดดเีดี่ยวเลยครับ..
2554 ประสบการณ์กว่า 5 ที่สะสมมาทำอย่างไรจะถ่ายทอดให้กับคนที่เพิ่งเข้ามาสัมผัสกับ HOSxP ให้มากที่สุด เป็นโจทย์ที่ยากมากเลยนะครับ ผมเคยคุยกับอาร์มหลายครั้งว่า HOSxP ในยุคหลังๆซับซ้อนมากขึ้น มีค่าต่างๆ ที่ต้องเซตหลายตัว ..และแน่นอนครับว่าเมื่อจากเปลี่ยนผ่านจาก HCIS เป็น HOSxP PCU ในลักษณะที่ไม่มีทางให้เลือกมากนัก.. แม้จะมีซอฟท์แวร์ที่พัฒนาต่อยอดจาก HCIS เป็น JHCIS เมื่อพิจารณาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ภัยคุกคามต่างๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินใจยากว่าควรจะใช้ซอฟท์แวร์ตัวไหน..
ปัญหาของผมวกกลับมาตั้งต้นที่จุดเดิมอีกครับ..ต่างกันแค่ขนาดของพื้นที่ใหญ่กว่ามาก จากที่เคยรับผิดชอบเพียงอำเภอด่านซ้าย ตอนนี้ผมต้องเดินทางอาทิตย์เว้นอาทิตย์เพื่อไปช่วยเหลืออำเภอต่างๆ ที่ร้องขอมา..ไม่รวมกับโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาปรึกษาเพิ่มมากขึ้น..
ทำไมต้องทำ..และจะทำได้แค่ไหน ผมเองก็ไม่รู้ครับ รู้แต่ว่าหาก รพ.สต.ที่่เริ่มใช้ HOSxP PCU แล้วมีปัญหาถ้าการช่วยเหลือการสนับสนุนช้า และถูกปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังนานๆ จากโปรแกรมที่ดีกลายเป็นความสิ่งที่สร้างความรู้สึกในทางลบว่าใช้ยาก ห่วยแตก ส่วนจะทำได้แค่ไหนนั้นก็คงเ่ท่่าที่ทำได้นั่นแหละครับ เหมือนกับท่อนหนึ่งของเพลงอยู่คนเดียวที่ร้องว่า.."อยู่คนเดียวให้เข็ด น้ำตาแทบเล็ด..มันเจ็บมันร้อนก็ต้องทนให้อยู่"
เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมต้องเลือกทางที่ยากด้วย เป็นผู้ตามใช้งานเหมือนที่โรงพยาบาลอื่นๆเขาแนะนำให้ใช้โปรแกรมอะไรก็ใช้ๆไปเถอะสบายกว่ากันเยอะเลย. แต่ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของ admin ที่นอกเหนือไปจากดูแลระบบไอทีระบบสารสนเทศของหน่วยงานให้สามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาแล้วนั้น..หน้าที่สำคัญอีกอย่าง คือ "การมองให้เห็นอนาคต"
NOTE : วันเสาร์ที่ 29 มกราคม นัดอบรม HOSxP PCU โดยใช้สถานที่ คือ สถานีอนามัยนาดอกคำ อ.นาด้วงครับ เชิญ Admin หรือจะไม่ใช่ admin ที่สนใจและอยากเรียนรู้ HOSxP PCU เพิ่มเติม มาร่วมด้วยช่วยกันครับ
ป้ายกำกับ:
HOSxP PCU