ความสำเร็จของทุกงาน ใครๆก็มักจะพูดถึงเรื่อง "คน" คือ ปัจจัยสำคัึญที่สุด..ต้องทำอย่างโน้น ต้องเตรียมคนอย่างนี้ ฯลฯ บางท่านอาจจะบอกว่าก็พูดแบบนี้ทุกที เพราะเอาเข้าจริงเรื่องการพัฒนาคนก็ไปไม่ถึงไหน..
ทีมจังหวัดเลยมีการประชุมคณะกรรมการ ICT ระดับจังหวัดครับ ผมได้มีโอกาสไปนำข้อความคิดเห็นเล็กๆน้อยๆ ท่ามกลางทีมงาน ICT เดิมทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันยังมีไม่กี่คน อาจจะเป็นด้วยเงื่อนไขของเวลาประชุมที่มีน้อยเกินไป และหลายคนอาจจะรู้สึกค้างคาในใจว่าถึงจะเปลี่ยน software ตัวใหม่ผลก็คงไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก..ถูกครับ แต่อาจจะไม่ทั้งหมด
เราพูดคุยกันถึงเรื่องการเตรียมคนในระบบสารสนเทศ "คน"ในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่ระดับผู้ปฎิบัติงาน นักวิชาการคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ ช่างเทคนิค ฯลฯ เท่านั้น แต่สำหรับผมการเตรียมคนที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้บริหารครับ .. แต่ที่ผ่านมาเรามักมีปัญหาในการนำเสนอเพื่ือให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าใจได้ยาก หรือบางครั้งไปลงลึกเกินไปในรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจโดยตรงทำให้กลุ่มผู้บริหารจึงมักไม่ค่อยสนใจที่จะเสียเวลามานั่งดูเวลาสาธิตการใช้โปรแกรม ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าไม่ค่อยรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และบนพื้นฐานความเชื่อเดิมๆที่ว่าโปรแกรมไหนๆก็เหมือนกัน จึงทำให้กลุ่มผู้บริหารขาดข้อมูลสำคัญๆต่อการพัฒนาในเิชิงระบบหรือการปรับเปลี่ยนองค์กรซึ่งสำคัญมาก
ก่อนที่จะผมจะนำ HOSxP มาใช้ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีหลายครั้งที่ผมนำเสนอตัวต่อตัวกับผู้อำนวยการ และที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร จุดสำคัญที่ผมพยายามชี้ให้เห็นคือ ความยากของโปรแกรมนี้ เช่น การตั้งค่าพื้นฐานที่ต้องใช้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร การเงิน งานประกัน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูข้อมูลพื้นฐานของงานตัวเอง.. ซึ่งสำคัญ เพราะหากวางข้อมูลพื้นฐานผิดจะส่งผลให้การใช้งานโปรแกรมมีปัญหา หน้าที่ในการบริหารจึงต้องให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่รู้เรื่องงานสาธารณสุขไปกำหนดค่าอะไรต่างๆ ไปเรื่อยเปื่อย บางท่านอาจจะบอกว่าคนดูแลระบบของผมก็เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเก่งคอมพิวเตอร์ด้วย ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถึงจะเป็นคนในวงการสาธารณสุขแต่ก็ยังเข้าใจเฉพาะในสายวิชาชีพของตนเองอยู่ดีอาจจะได้เปรียบมากกว่าแค่พอจะรู้หน้างานของวิชาชีพอื่นๆอยู่บ้างแต่ก็ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และหลายคนเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุงานยังน้อย บารมียังไม่ถึง การที่จะไปนำเสนอพูดคุยหรือเรื่องการเปลี่ยนระบบของโรงพยาบาลซึ่งเป็นเรื่องใหญ่คงจะโดนตอกหน้าหงายกลับมา
ผมใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ในการเข้าไปดูการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เดินตามคนไข้ในระบบ เพื่อศึกษาว่าหน่วยงานต่างๆเขาทำงานกันอย่างไร และมาศึกษาเปรียบเทียบกับโปรแกรม HOSxP ที่จะนำมาใช้ว่าสอดคล้องกัน หรือว่ามีจุดไหนบ้างที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะบางครั้งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนวิธีการทำงาน แต่อาจเลยเถิดถึงการเปลี่ยน FLOW เปลี่ยนคนให้เหมาะสมกับงาน ของแบบนี้้ต้องตัดสินใจโดยระดับผู้บริหารครับ..ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ดีพอด้วย..
แม้กระทั่งการใช้คนกลุ่มนักวิชาการคอมพิวเตอร์ การกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน คนกลุ่มนี้ถูกใช้งานแบบพนักงานเอนกประสงค์และมีจำนวนไม่ค่อยพอกับปริมาณงานที่มีอยู่ ทำให้ชีวิตแต่ละวันของคนกลุ่มนี้หมดไปกับการซ่อมคอมพิวเตอร์ ดูแลเครื่องเสียงห้องประชุม ทำสื่ือนำเสนอ ฯลฯ ไม่มีเวลาพัฒนา software ซึ่งต้องใช้เวลาและสมาธิอย่างมาก แค่การเขียนรายงานหนึ่งตัวความยาวของซ๊อสโค๊ดโปรแกรมไม่กี่หน้ากระดาษ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาตรงนี้ 1-2 วันเต็มๆ
ระบบการบำรุงรักษามาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นอีกเรื่องที่คนในองค์กรช่วยได้อย่างมาก การใช้งานคอมพิวเตอร์แบบไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ สปายแวร์ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบคอมพิวเตอร์บ่อยครั้งจากการใช้งานแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้ใช้ ทำให้ระบบมีปัญหาบ่อยๆ หากนักคอมพิวเตอร์จะจัดการปิด หรือล๊อคในสิ่งที่จำเป็นก็ถูกห้ามหรือถูกตำหนิจากผู้บริหาร ทำให้มาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ของระบบสารสนเทศ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม..
ผมว่าพวกเรารู้น้อยมากว่าคนทำงานไฟฟ้า โทรศัพท์ ประปา สาธารณูปโภคสำคัญๆ เหล่านี้เขาทำงานกันอย่างไร รู้แต่ว่าเรามักจะบ่นด่าทุกครั้งที่สาธารณูปโภคเหล่านี้มันขัดข้อง ในระบบคอมพิวเตอร์ก็เช่นเดียวกันครับหลายครั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องอยู่แก้ปัญหา ทำงานนอกเวลา เพราะระบบงานของโรงพยาบาลที่ติดตั้งใช้งานแล้วต้องทำงาน 24 ชั่วโมง การดูแลก็ต้องตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน แต่ค่าตอบแทนที่ได้กลับคิดบนพื้นฐานตามระเบียบราชการที่รักษาคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยอยู่ พอคนดูแลระบบลาออกก็คิดว่าจ้างใหม่ ระบบก็ต้องมาเริ่มใหม่และเป็นปัญหาซ้ำซาก ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ผู้บริหารก็ต้องเข้ามาดูแลตัดสินใจจ้างในอัตราราคาตลาดที่เหมาะสม..
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเวลาโรงพยาบาลที่จะขึ้นระบบ HOSxP เรามีเงื่อนไขว่าผู้บริหารควรจะมาดูงานด้วยตนเองเพราะไม่เช่นนั้นจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่อการตัดสินใจ ยกตัวอย่าง เช่นว่า จะใช้ HOSxP จะต้องเสียเงิน, หรือกลัวว่าใช้ไปแล้วจะมีปัญหาเพราะเป็นฟรีแวร์ใครจะมาพัฒนาให้ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารมีข้อมูล ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อ สถานการณ์ปัจจุบันของ software ระดับสถานีอนามัย และโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องแบบนี้บางทีต้องลงลึกในรายละเอียดจุดอ่อน จุดแข็ง ทิศทางในอนาคต และประเด็นอื่นๆในหลายๆมิติเพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่การไปศึกษาดูงานเพียงแค่วันเดียวแล้วกลับมาตัิดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช่...บทเรียนในอดีตหลายๆครั้งเราพบว่าแค่นั้นผู้บริหารได้ข้อมูลที่ดีๆ และไม่ดี ยังมีไม่มากพอ..