ข้อผิดพลาดที่พบมากที่สุด สำหรับหนังสือรับรองการตายที่เขียนโดยแพทย์ไทยในอดีต คือ การเขียนรูปแบบการตาย (Mode of Death) ลงไปใน หนังสือรับรองการตาย
ตัวอย่าง Mode of Death ได้แก่
- Heart failure หรือ Cardiac Arrest (หัวใจล้มเหลว)
- Respiratory failure (หายใจล้มเหลว)
- Cardio-respiratory failure (ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว)
- Shock
- Brain dysfunction
ฯลฯ
เหล่านี้คือ คำบรรยายรูปแบบการตายที่ใช้ในการทำ Clinico-pathological-conference นั่นเอง คำเหล่านี้ ทำให้เกิดความสับสนกับคำว่า สาเหตุการตาย หรือ Underlying cause of death เป็นอย่างมาก เพราะแพทย์และเจ้าหน้าที่หลายคนเข้าใจว่า รูปแบบการตายคือสาเหตุการตาย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่
รูปแบบการตายแตกต่างจากสาเหตุการตายตรงที่ว่า รูปแบบการตายคือการบ่งบอกว่า อวัยวะใดที่สำคัญหยุดทำงานไปก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ส่วนสาเหตุการตาย บอกว่า เหตุต้นกำเนิด ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วย อันทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ จนนำไปสู่การตายนั้นคืออะไร
การค้นหาและวิเคราะห์สาเหตุการตายของประชากรในประเทศใดประเทศหนึ่ง จะมีประโยชน์ ในการวางแผนป้องกันสาเหตุการตายนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการวิจัยทางการแพทย์และระบาดวิทยา ส่วนการวิเคราะห์รูปแบบการตาย อาจมีประโยชน์อยู่บ้างในการศึกษาทางพยาธิวิทยาของอวัยวะสำคัญ
ถ้าเรามองในมุมกว้าง จะเห็นว่า การวิเคราะห์สาเหตุการตายจะมีประโยชน์ในระดับชาติ และนานาชาติมากกว่า ดังนั้น กฎเกณฑ์ ICD-10 จะเน้นการเลือกสาเหตุการตายให้ถูกต้อง และไม่แนะนำให้มีการเขียนรูปแบบการตายลงในหนังสือรับรองการตาย
ที่มา : คู่มือการรับรองสาเหตุการตาย โดยกลุ่มข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข